คนทำงานอิสระ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องจดทะเบียนบริษัท?

คนทำงานอิสระ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องจดทะเบียนบริษัท?

9 กุมภาพันธ์ 2566

ช่วงสิ้นปีหลังจากคำนวณรายได้ยื่นภาษี ด้วยรายได้ที่เข้ามา คนทำงานอิสระหรือเจ้าของธุรกิจ SME อาจเริ่มคิดอยากจดทะเบียนเปิดบริษัท เพื่อจะได้จ่ายภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งหากเป็นบริษัท SME ที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท การคำนวณภาษีจะใช้อัตราดังนี้

  • กำไรสุทธิ 3 แสนบาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี
  • กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 15
  • กำไรสุทธิส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 20

แต่ถ้าไม่จดทะเบียนบริษัท จะเสียภาษีในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งใช้การคำนวณแบบขั้นบันได หากมีรายได้สุทธิเกิน 150,000 - 300,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษีร้อยละ 5 และเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นรายได้ ไปจนถึงอัตราสูงสุดคือหากมีรายได้สุทธิเกิน 5 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีร้อยละ 35

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่า หากมีรายได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาทต่อปี บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีร้อยละ 20 แต่ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล หากมีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 750,001 - 1,000,000 บาทต่อปี จะเสียภาษีร้อยละ 15 การจดทะเบียนบริษัทจึงเสียภาษีในอัตราต่ำกว่า เมื่อมีกำไรสุทธิสูงในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กกำไรยังไม่เกิน 500,000 ต่อปี ก็อาจยังไม่คุ้มเท่าไรนักสำหรับการจดทะเบียนบริษัท

ข้อดีของการจดทะเบียนบริษัท

แล้วการจดทะเบียนบริษัทดีอย่างไร?

นอกจากผลประโยชน์ด้านภาษีแล้ว การจดทะเบียนบริษัทยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำงานอีกด้วย เพราะเป็นหลักฐานแสดงให้ผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าเห็นว่า กิจการของเราผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ มีสถานที่ประกอบการชัดเจน และมีการทำบัญชีรวมถึงงานเอกสารต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ช่วยเพิ่มโอกาส และศักยภาพในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การจดทะเบียนบริษัทยังทำให้เจ้าของกิจการสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริง และนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

จดทะเบียนบริษัทด้วยทุนเท่าไรดี

จดทะเบียนบริษัทด้วยทุนเท่าไรดี

ตามหลักกฎหมายทุนในการจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำคือ 15 บาท แต่คงไม่มีใครจดทะเบียนด้วยทุนเริ่มต้นเพียงเท่านี้ เพราะตัวเลขทุนจดทะเบียนแสดงถึงความมั่นคง และความน่าเชื่อถือของบริษัท ทั้งยังบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การประมูลงานจากองค์กรใหญ่ การส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ เป็นต้น

ผู้ประกอบการรายย่อยจึงมักจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนเริ่มต้น 100,000 - 1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภท และขนาดของธุรกิจ โดยจะต้องชำระค่าทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 เพื่อให้บริษัทนำเงินก้อนนี้ไปใช้เป็นทุนในการเริ่มต้นกิจการ เช่น ค่าเช่าร้านหรือสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ซื้ออุปกรณ์ดำเนินงานต่าง ๆ

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

  • การจดทะเบียนบริษัทต้องมีหุ้นส่วนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป
  • เจ้าของกิจการสามารถจองชื่อสำหรับใช้จดทะเบียนบริษัททางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th
  • เมื่อนายทะเบียนอนุมัติชื่อบริษัทแล้ว ขั้นตอนถัดมาคือการยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิภายใน 30 วัน
  • จากนั้นทำการนัดประชุมผู้ถือหุ้น จัดสรรหุ้นให้ครบจำนวน และประชุมจัดตั้งบริษัท
  • หลังจากรวบรวมเอกสารครบถ้วน และชำระเงินค่าธรรมเนียมเรียบร้อย ก็รอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจากนายทะเบียนเป็นอันเสร็จสิ้น

เช็กความพร้อมก่อนตัดสินใจ

แม้การจดทะเบียนบริษัทจะช่วยให้เจ้าของกิจการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี แต่ทุกปีบริษัทจะต้องแสดงเอกสารงบการเงิน จึงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการจ้างนักบัญชี และผู้ตรวจสอบบัญชี ทำให้ต้องมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการจัดทำ และเก็บรวบรวมเอกสารต่าง ๆ นอกจากนี้ เจ้าของกิจการยังต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาควบคู่ไปกับการเสียภาษีนิติบุคคล โดยนำรายได้จากปันผลหรือเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทตนเองมาคำนวณภาษี

ก่อนตัดสินใจจดทะเบียนบริษัท จึงต้องคำนวณให้ดีว่าหลังจากหักค่าใช้จ่าย และเปรียบเทียบอัตราการเสียภาษีแล้ว ระดับรายได้ของเราเหมาะสมที่จะจดทะเบียนบริษัทหรือไม่ และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาคือ แนวโน้มการเติบโตของงานหรือกิจการที่เรากำลังทำอยู่ ถ้ายังรักชีวิตอิสระต้องการความคล่องตัวสูง บางทีการเป็นฟรีแลนซ์อาจตอบโจทย์มากกว่า แต่ถ้าเริ่มมองหาความก้าวหน้าทางธุรกิจ ต้องการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ขยายทีมให้เติบโต มีแผนจะร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ หรือขยายตลาดในการค้าขายให้กว้างขึ้น การจดทะเบียนบริษัทก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย หลังจากประเมินปัจจัยต่าง ๆ รอบด้าน และมองเห็นถึงความคุ้มค่าในการเลือกจดทะเบียนบริษัทแล้ว อย่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอย หากต้องการวางแผนการเงินเพื่อโอกาสในการขยายธุรกิจเพิ่มเติม คาร์ ฟอร์ แคช พร้อมเป็นเพื่อนคู่คิดให้คุณอุ่นใจในทุกการลงทุน